ทำความรู้จักกับ “ที่ปรึกษาการผลิต” ตอนที่ 2 โมเดลทำงาน???

      จากบทความก่อนที่ได้พูดถึงว่าที่ปรึกษาการผลิต  ทำอะไร ทำไมถึงต้องมี วันนี้มาแนะท่านผู้อ่านว่าถ้าจะปรับปรุงการผลิตสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติ Smart Factory จะทำอย่างไร ดีลยังไง โมเดลแบบไหนบ้าง ก่อนที่จะพูดถึงโมเดลทำงานขออธิบายว่า ถ้ากิจการของท่านต้องการเป็น Smart Factory จะมีอะไรที่ต้องทำบ้าง  

ขั้นตอนปรับปรุงการผลิตสู่ระบบอัตโนมัติ

ประกอบด้วย


ข้อ1.ทำแบบระบบการผลิตใหม่

       "แบบระบบการผลิตใหม่" ผมได้พูดถึงในบทความตอนที่ 1ไปแล้วบ้าง(ในตัวอย่างการพัฒนาสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติ Smart Factory) ถ้าอธิบายให้ละเอียด "แบบระบบการผลิตใหม่" คือส่วนประกอบต่างๆ ที่ใด้มาจากข้อกำหนดของระบบการผลิตที่ต้องการปรับปรุง แล้วนำมาวิเคราะ คำนวณ สร้างโมเดล และทำเอกสารคุณลักษณะ ซึ่งประกอบด้วย

            -แบบ 2D หรือ 3D แนวคิด(Conceptual Design) ของระบบการผลิตใหม่ทั้งหมด

            -ข้อมูลด้านคุณภาพการผลิต อัตราการผลิต ประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งคือข้อกำหนดโครงการหลัก

            -รายการชิ้นส่วน/อุปกรณ์ และเครื่องจักรหลักที่ใช้ในโครงการ

            -ขั้นตอน และรายระเอียดการทำงานของระบบการผลิตใหม่

            -งบประมาณโครงการ

            -ข้อกำหนดโครงการอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการต้องการ เช่น ระบบ ลีน (lean) และ just in time เป็นต้น

            -อื่นๆ ตามที่ผู้ประกอบการต้องการเพิ่ม


โดย "แบบระบบการผลิตใหม่"  ที่แล้วเสร็จ มี 3 ส่วนดังนี้

1.Conceptual Design สำหรับใช้นำเสนอ และการออกแบบ

2.เอกสารแสดงคุณลักษณะโครงการ (specification)

3.เอกสารแสดงการประเมินราคาโครงการ ต้นทุนพร้อมรายละเอียด

รูปตัวอย่าง Conceptual Design เป็นส่วนหนึ่งของแบบระบบการผลิตใหม่ ระบบหุ่นยนต์หยิบตะกร้า (รุ่น1)

รูปตัวอย่าง Conceptual Design เป็นส่วนหนึ่งของแบบระบบการผลิตใหม่ ระบบหุ่นยนต์หยิบตะกร้า (รุ่น1)


ข้อ2.ทำแผนโครงการ

       แผนโครงการก็คือแผนงานการออกแบบ ผลิต การจัดซื้อ/ว่าจ้าง และแผนสำรองแก้ไขปัญหา เป็นต้น ที่ได้ถูกจัดทำให้ทุกกระบวนการนั้นสอดคล้องกัน เพื่อสำหรับติดตามความก้าวหน้าของโครงการซึ่งจะเป็นแผนหลักที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่านยึดถือและต้องดำเนินการตามแผน


ข้อ3.การผลิต

       เป็นกระบวนการสำหรับออกแบบ และผลิตระบบการผลิตใหม่ แบ่งเป็น 5 ส่วนดังนี้

3.1.การออกแบบทางกล/ทางไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์/ระบบควบคุม และการเขียนโปรแกรม

3.2.การผลิตชิ้นส่วน เครื่องจักร กลไก (workpiece positioner & end of arm tooling) และหุ่นยนต์

3.3.จัดซื้อ/จัดหา

       -วัสดุ-อุปกรณ์  เครื่องจักร กลไก และหุ่นยนต์ เป็นต้น

3.4.การผลิตระบบควบคุม

       -ผลิตและติดตั้งระบบควบคุม

       3.5.การประกอบ และการติดตั้ง

              -กระบวนการนำเครื่องจักร กลไก  หุ่นยนต์ ระบบควบคุม และโปรแกรม มาติดตั้งเข้าด้วยกันเพื่อให้ทำงานได้ตาม "แบบระบบการผลิตใหม่"  

              -กระบวนการต่อเชื่อมระบบการผลิตใหม่ให้ทำงานเข้ากับระบบการผลิตก่อนหน้า หรือหลัง เพื่อให้ระบบการผลิตใหม่ทำงานต่อเนื่องเข้ากันได้กับระบบที่มีอยู่แล้วได้ ซึ่งเป็นกระบวนการทั้งทางกล ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุม

        3.6.การทดสอบ เพื่อประเมินการส่งงาน

              -กระบวนทดสอบภายใต้ข้อกำหนดโครงการ ทั้งข้อกำหนดหลัก และข้อกำหนดอื่นๆ เช่น ทดสอบหาอัตราทำงานสูงสุด หรือ ทดสอบหาความผิดพลาดการผลิต (วัดคุณภาพการผลิต) เป็นต้น โดยต้องเป็นไปตามเอกสารแสดงคุณลักษณะโครงการ

              -ประเมินงานตาม เอกสารแสดงคุณลักษณะโครงการ เพื่อพิจารณาข้อกำหนดไหนผ่าน หรือไม่ผ่าน พร้อมนำเสนอวิธีแก้ไข


ข้อ4.การแก้ไข

      ข้อนี้จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการไม่ผ่าน ซึ่งต้องมีการแก้ไขเพื่อให้ผ่านต่อไป


     ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตสินค้าใด หรือกิจการนั้นจะมีข้อจำกัดด้านไหนบ้าง โครงสร้างการทำงานของขั้นตอนปรับปรุงการผลิตสู่ระบบอัตโนมัติ ก็มี 3 ขั้นตอนหลักตามที่กล่าวมา อาจจะแตกต่างในรายละเอียดกันบ้างตามความหลากหลายของระบบการผลิต และข้อจำกัดของผู้ประกอบการเอง


โมเดลการทำงานการปรับปรุงการผลิตสู่ระบบอัตโนมัติ

จากประสบการณ์ของผู้เขียนแล้ว รูปแบบการทำงานระหว่างผู้ประกอบการ กับ เอาท์ซอร์ซ เช่น maker หรือ SI นั้น ก็มีหลักๆ อยู่ 3 โมเดลดังนี้


โมเดลที่ 1.จ้างเหมา

      ก็คือการที่ผู้ประกอบการได้ว่าจ้างเอาท์ซอร์ซให้ทำงานตามที่กิจการนั้นต้องการ ซึ่งผู้ประกอบการจะมีโจทย์ และข้อมูล(บางส่วน) ให้เท่านั้น และที่เหลือไม่ว่า แบบระบบการผลิตใหม่ แผนโครงการ และการผลิต(ทั้งหมด) นั้น เอาท์ซอร์ซจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งโมเดลนี้ผู้ประกอบการจะว่าจ้าง ที่ปรึกษาการผลิต เพิ่มหรือไม่ก็ได้


เงื่อนไข/จุดเด่น

-เหมาะกับที่มีประสบการณ์

โมเดลนี้เหมาะกับเอาท์ซอร์ซ ที่มีประสบการณ์กับการพัฒนาระบบการผลิตใหม่ เช่น ผู้ประกอบการข้าวกล่อง ต้องการระบบการผลิตที่ จัดกล่อง เติมข้าว/กับข้าว ตรวจสอบคุณภาพด้วย vision และปิดฝา รวมถึงจัดเรียงลงกล่องอัตโนมัติ ถ้าเอาท์ซอร์ซมีประสบการทำงานลักษณะนี้อยู่แล้ว เคยทำมาแล้ว โมเดลนี้เหมาะสม


-ไม่ยุ่งยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเหมาะสมที่สุด


-ควบคุมงบประมาณได้แน่นอน


เงื่อนไข/จุดอ่อน

  -งบประมาณสูง

ในโมเดลนี้ เอาท์ซอร์ซจะทำทั้งหมด สำหรับเอาท์ซอร์ซที่มีประสบการณ์ย่อมเรียกค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งก็อธิบายได้เพราะเขาต้องรับผิดชอบทั้งระบบ และค่าประสบการณ์ ซึ่งพวกนี้เขาเอามาคิดแน่นอน


-ความยืดหยุ่นในระบบการผลิตใหม่?

      อย่างที่ทุกคนทราบระบบการผลิตถึงแม้จะผลิตสินค้าเดียวกัน แต่ผู้ประกอบการก็มีข้อจำกัดต่างกันในแต่ล่ะราย ข้อจำกัดยอดนิยมที่เจอบ่อยคือ งบประมาณ และขนาดพื้นที่ แต่เมื่อคุณจ้าง เอาท์ซอร์ซที่ทำระบบการผลิต แบบนี้มาแล้ว เขาจะยืดหยุ่นให้แค่ไหน นั้นเป็นคำถาม? และยังต้องพิจารณาเรื่องกระบวนการนำวัตถุดิบเข้าสูงระบบการผลิตใหม่ และการนำสินค้าที่ผลิตแล้วออกไปด้วย ซึ่งตรงส่วนนี้เขายืดหยุ่นให้แค่ไหน เขามีระบบรองรับหรือไม่ หรือเขาสามารถปรับเปลี่ยนจากระบบที่เคยทำมาแล้วให้เหมาะสมระบบใหม่นี้ ได้หรือไม่?


-ขอทุนไม่ได้

      แน่นอนถ้าเป็นอะไรที่เคยทำแล้ว คุณจะนำโครงการ หรือเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการไปขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ คงไม่ได้ เช่น ขอทุนนวัตกรรม เป็นต้น


จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาการผลิต ไหม?

จากที่กล่าวข้างต้นว่าโมเดลนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาการผลิต ก็ได้ ซึ่งปัจจัยต่อไปนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าควรมีหรือไม่มี

ไม่ต้องมี ที่ปรึกษาการผลิต ?

      ผู้ประกอบการมีพนักงานสามารถรับผิดชอบการดีลกับ เอาท์ซอร์ซ และพนักงานคนนี้ หรือ ทีมนี้สามารถหาคำตอบในคำถามเหล่านี้ได้ (คัดมาบางส่วนจากตอนที่1)

     -ทำงานได้จริงไหม ต่อเนื่องได้ไหม 

            -คุณภาพการผลิตตามที่ต้องการไหม 

            -อัตราการผลิตได้ไหม 

            -งบประมาณที่ใช้คุ้มค่าไหม แล้วจะรู้ได้ไงว่าเหมาะสมแล้ว

            -จัดการกับวัตถุดิบก่อนเข้าระบบผลิตอย่างไร just in time ไหม

            -จัดการกับสินค้าที่ผลิตแล้วอย่างไร        

            -ระบบทางกล และไฟฟ้าที่เลือกใช้ (เช่น servo motor) นั้นเหมาะสมหรือไม่ ทนทานน่าเชื่อถือไหม ซื้อใหม่ราคาสูงไหม จัดส่งนานไหม

            -ระบบควบคุมที่ใช้ เหมาะสมหรือไม่ หาคนอื่นมาแก้ไขได้ไหม หรือต้องพึ่งผู้พัฒนาเดิมตลอดไป และระบบทันสมัยคุ้มค่าไหม

            -ควบคุมให้ใช้วัสดุ อุปกรณ์ตามที่เสนอได้อย่างไร ใครควบคุม?

            -ควบคุมคุณภาพของเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการ เช่น หุ่นยนต์ workpiece positioner และ end of arm tooling เป็นต้นนั้นได้อย่างไร ใครควบคุม?

            -ซ่อมบำรุงจะใช้ต้นทุนสูงไหม และจะมีปัญหาไหม 


ข้อนี้ผู้ประกอบก็ต้องพิจารณาเอง แต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้าไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ หรือมีความเสี่ยงไม่มาก และไม่ได้มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แบบนี้ ที่ปรึกษาการผลิต ก็อาจไม่จำเป็น

รูปโมเดลที่ 1 กรณีไม่มี ที่ปรึกษาการผลิต


สรุป ง่ายๆ สำหรับโมเดลที่ 1

      ให้เอาท์ซอร์ซทำทั้งหมด แต่เอาท์ซอร์ซต้องเคยทำงานแบบนี้มาก่อนแล้ว หรือมีประสบการณ์อย่างดี

รูปโมเดลที่ 1 กรณีมี ที่ปรึกษาการผลิต


โมเดลที่ 2.ว่าจ้างแบบจำกัด

     ก็คือการที่ผู้ประกอบการได้ว่าจ้าง ให้ที่ปรึกษาการผลิต  ทำแบบระบบการผลิตใหม่ และแผนโครงการ โดยส่วนการผลิต(ทั้งหมด) ให้เอาท์ซอร์ซทำ เหตที่ใช้วิธีนี้ เพราะระบบการผลิตใหม่นั้นมีลักษณะพิเศษเฉพาะ และไม่สามารถหาเอาท์ซอร์ซที่เคยมีประสบการณ์ได้ หรือมีแต่พบว่ายังมีข้อบกพร่อง


      เช่น ระบบป้อนตะกร้าเข้าเครื่องล้างตะกร้า นั้นในต่างประเทศมีเอาท์ซอร์ซที่พัฒนาระบบอัตโนมัติ แบบนี้อยู่ แต่เป็นการใช้ระบบสายพานลำเลียงจำนวนมากลำเลียงตะกร้า และคว่ำตะกร้า ซึ่งมีข้อด้อยคือใช้พื้นที่มากกว่า 10 หรือ 20เท่า ส่วนระบบที่ใช้ในพื้นที่จำกัดก็ไม่มีคนเคยทำ เป็นต้น

ตัวย่างระบบป้อนตะกร้าเข้าเครื่องล้างตะกร้าด้วยระบบลำเลียงสายพานจำนวนมาก ใช้พื้นที่มาก ของเอาท์ซอร์ซต่างประเทศ


ขั้นตอนการทำงานของ โมเดลที่ 2.ว่าจ้างแบบจำกัด

ขั้นที่ 1.“ที่ปรึกษาการผลิต จะเป็นผู้ทำแบบระบบการผลิตใหม่ สิ่งที่ได้ คือเอกสารแสดงคุณลักษณะโครงการ  Conceptual Design เอกสารแสดงการประเมินราคาโครงการ และแผนโครงการ


ขั้นที่ 2.ที่ปรึกษาการผลิต คัดเลือกเอาท์ซอร์ซตามข้อกำหนดที่วางไว้ เช่น ด้านความลับการค้า/ความเหมาะสม และส่งมอบ เป็นต้น

      -เอกสารแสดงคุณลักษณะโครงการ เวอร์ชั่นเอาท์ซอร์ซ เป็นเอกสารที่ปรับแก้เพื่อป้องกันความลับการค้ารั่วไหล

      -Conceptual Design เวอร์ชั่นเอาท์ซอร์ซ

โดยให้ เอาท์ซอร์ซ เสนอแผนงาน และราคาโครงการ ซึ่งที่ปรึกษาการผลิต จะเข้าไปดูในรายละเอียดทั้งหมดว่าที่เอาท์ซอร์ซเสนอมานั้น เหมาะสม และเป็นไปตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ และคุ้มค่าต่อราคาโครงการหรือไม่ และรวมถึงความน่าเชื่อถือในการทำงานว่ามีโอกาสล้มเหลวแค่ไหน หรือจะมีข้อเป็นห่วงอะไรบ้าง เป็นต้น


ขั้นที่ 3.การผลิต

      ที่ปรึกษาการผลิตทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอลการผลิตให้เป็นไปตามแผนโครงการ และ แบบระบบการผลิตใหม่ ตามที่แสดงใว้ข้างต้น


เงื่อนไข/จุดเด่น

-เหมาะกับระบบการผลิตใหม่ที่มีลักษณะพิเศษ

      เช่น ระบบการผลิตที่เปลี่ยนจากคนมาสู่อัตโนมัติได้ยาก หรือไม่มีเอาท์ซอร์ซรายใดเคยทำมาก่อน หรือทำแล้วยังพบข้อบกพร่อง หรือติดข้อจำกัดของผู้ประกอบการ

-เหมาะกับโครงการที่มีงบประมาณจำกัด

      เมื่อที่ปรึกษาการผลิต เป็นผู้ทำแบบระบบการผลิตใหม่เอง ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการจะรู้รายละเอียดทั้งหมด และต้นทุนซึ่งถ้าสูงไป หรือมีข้อกำหนดที่ไม่เพียงพอ ไม่ถูกใจ ที่ปรึกษาการผลิตสามารถปรับเปลี่ยนได้หมด เพื่อให้อยู่ในงบประมาณ และเป็นไปตามข้อกำหนดที่ต้องการ


-ลดโอกาสล้มเหลว

      โดยขั้นตอนทำงานที่มีเป็น 2 ส่วน คือขั้นตอนขั้นแรกที่ปรึกษาการผลิต จะเป็นผู้ทำแบบระบบการผลิตใหม่ ซึ่งขั้นนี้เป็นโอกาสอันดี ที่ผู้ประกอบการจะได้ตรวจสอบได้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นการลดโอกาสล้มเหลว และขั้นตอนที่2 คือ ขั้นตอนการผลิต ที่เอาท์ซอร์ซจะรับผิดชอบงานน้อยลง และสามาถเลือกเอาท์ซอร์ซที่เชี่ยวชาญในงานผลิตมาทำได้โดยตรง ซึ่งเป็นการลดปัญหา ลดโอกาสล้มเหลว


-ขอทุนได้

      เมื่อเป็นระบบการผลิตใหม่ที่มีลักษณะพิเศษ และอาจต้องพัฒนาเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์แบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเข้าเงื่อนไขความเป็นการเป็นนวัตกรรม ก็ย่อมมีโอกาสขอทุนได้


-ยืดหยุ่น

      สามารถใช้กับระบบการผลิตใหม่แบบไหนก็ได้ สินค้าอะไรก็ได้ โดยเฉพาะทีมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และเหมาะกับกิจการที่มีข้อจำกัดอื่นๆ อีก เช่น พื้นที่จำกัด เป็นต้น ก็สามารถพัฒนาให้เป็นไปตามข้อจำกัดนั้นได้


เงื่อนไข/จุดอ่อน

  -ยุ่งยาก

      เมื่อเทียบกับโมเดลแรก โมเดลนี้ เหมือนแบ่งเป็น 2 โครงการย่อย ซึ่งแน่นอนยุ่งยากกว่าแน่ และจำเป็นต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษาการผลิต มาช่วยเท่านั้น ไม่มีนี่จบเลย เหนื่อย อาจจะมีบางกิจการโดยเฉพาะขนาดใหญ่ ที่มีแผนกพัฒนาการผลิต ทำหน้าที่นี้โดยตรง แต่พวกนี้จะเน้นไปที่การ optimize ระบบการผลิต(เน้นลดต้นทุน ลดของเสีย) มากกว่า จะไม่เชี่ยวชาญการพัฒนาระบบการผลิตอัตโนมัติ ด้วยเหตนี้เขาก็ต้องว่าจ้าง ที่ปรึกษาการผลิต มาช่วยในที่ที่ขาดอยู่ดี

รูปโมเดลที่ 2


สรุป ง่ายๆ สำหรับโมเดลที่ 2

      “ที่ปรึกษาการผลิต ทำแบบระบบการผลิตใหม่ และแผนโครงการ ส่วนการผลิต(ทั้งหมด) จ้างเอาท์ซอร์ซทำ เหมาะกับระบบการผลิตใหม่ที่มีลักษณะพิเศษ มีโอกาสขอทุนได้ และควบคุมงบประมาณได้ดีกว่า รู้งบประมาณโครงการละเอียดก่อนทำ

 

โมเดลที่ 3.งบประมาณจำกัด

      สำหรับกิจการที่ไม่ได้ใหญ่มาก มีงบประมาณไม่สูงมาก แต่ต้องการเป็น Smart Factory แบบนี้จะทำอย่างไร ซึ่งต้องเขาใจว่า Smart Factory มีราคาของมัน ซึ่งมองว่าสูงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการทำแล้ว สามารถเอาเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขันที่ได้ ไปใช้ได้แค่ไหน ถ้าใช้ประโยชน์ได้ก็ถือว่าราคาไม่สูง  และเมื่อมาถึงตรงนี้ถ้าผู้ประกอบการที่มีงบประมาณแบบจำกัดจริงๆ แต่เห็นประโยชน์ของ Smart Factory และต้องการทำ แบบนี้จะเป็นไปได้ไหม  ถ้าตอบตรงนี้ ก็พอเป็นไปได้แต่ต้องใช้โมเดลที่ 3


โมเดลนี้มีหลักการง่ายๆ คือ ทำเองให้มากที่สุด เอาท์ซอร์ซเท่าที่จำเป็น


ขั้นตอนการทำงานของ โมเดลที่ 3.งบประมาณจำกัด

ขั้นที่ 1.ทำแบบระบบการผลิตใหม่

-“ที่ปรึกษาการผลิต จะเป็นผู้ทำแบบระบบการผลิตใหม่ และทำแผนโครงการ


ขั้นที่ 2.งานออกแบบ

-ที่ปรึกษาการผลิตจะออกแบบระบบทางกล งานไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุม และงานเขียนโปรแกรม

-เมื่องานออกแบบแล้วเสร็จ ก็จะคัดเลือก และส่งงานผลิตให้เอาท์ซอร์ซทำ

โดยให้ เอาท์ซอร์ซ เสนอแผนงาน และราคางาน โดยที่ปรึกษาการผลิต จะเข้าไปดูในรายละเอียดทั้งหมดว่าที่เอาท์ซอร์ซเสนอมานั้นเหมาะสม และเป็นไปตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ และคุ้มค่าต่อราคาโครงการหรือไม่ และรวมถึงความน่าเชื่อถือในการทำงานว่ามีโอกาสล้มเหลวแค่ไหน หรือจะมีข้อเป็นห่วงอะไรบ้าง เป็นต้น


ขั้นที่ 3.การผลิต

       ที่ปรึกษาการผลิตทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการผลิตให้เป็นไปตามแผนโครงการ และ แบบระบบการผลิตใหม่ ตามข้างต้น

โดยที่ปรึกษาการผลิตจะแบ่งงานการผลิตเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มงานผลิต

            -งานผลิตชิ้นส่วน

            -งานผลิตและติดตั้งระบบควบคุม

            -งานจัดซื้อ/จัดหา (ถ้ามี) เช่น ซื้อหุ่นยนต์ และเครื่องจักร ให้จัดซื้อจากตัวแทนจำหน่ายเอง(ผู้ประกอบการซื้อเอง)


กลุ่มงานติดตั้ง ทดสอบ

            -งานประกอบ และการติดตั้ง

            -งานทดสอบ


เงื่อนไข/จุดเด่น

-เหมาะกับระบบการผลิตใหม่ที่มีลักษณะพิเศษ

      เช่น ระบบการผลิตที่เปลี่ยนจากคนมาสู่อัตโนมัติได้ยาก หรือไม่มีเอาท์ซอร์ซรายใดเคยทำมาก่อน หรือทำแล้วยังพบข้อบกพร่อง หรือติดข้อจำกัด

-เหมาะกับโครงการที่มีงบประมาณจำกัดมากๆ  

     เมื่อที่ปรึกษาการผลิต เป็นผู้ทำแบบระบบการผลิตใหม่ ทำแผนโครงการ และออกแบบเอง ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการจะรู้รายละเอียดทั้งหมด และสามารถควบคุมต้นทุน ซึ่งถ้าสูงไป หรือมีข้อกำหนดที่ไม่เพียงพอ ไม่ถูกใจ ที่ปรึกษาการผลิตสามารถปรับเปลี่ยนได้หมด เพื่อให้อยู่ในงบประมาณ และเมื่อนำเอางานผลิตมาทำเอง เลือกเอาท์ซอร์ซผลิตชิ้นส่วนเองก็จะสามารถลดต้นทุนได้อีก


-ลดโอกาสล้มเหลว

     โดยขั้นตอนทำงานที่มีเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือทำแบบระบบการผลิตใหม่ ทำแผนโครงการ และออกแบบ โดย ที่ปรึกษาการผลิต และส่วนที่ 2 คือ ขั้นตอนการผลิตที่สามาถเลือกเอาท์ซอร์ซที่เชี่ยวชาญผลิตชิ้นส่วน และงานประกอบ มาทำได้โดยตรงซึ่งเป็นการลดปัญหา ลดโอกาสล้มเหลว


-ขอทุนได้

      กรณีที่เป็นระบบการผลิตใหม่ที่มีลักษณะพิเศษ และอาจต้องพัฒนาเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์แบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเขาเงื่อนไขความเป็นการเป็นนวัตกรรม ก็สามารถขอทุนได้


-ยืดหยุ่น

      สามารถใช้กับระบบการผลิตใหม่แบบไหนก็ได้ ทีมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณมากๆ และเหมาะกับกิจการที่มีข้อจำกัดอื่นๆ อีก เช่น พื้นที่จำกัด เป็นต้น ก็สามารถพัฒนาให้เป็นไปตามข้อจำกัดนั้นได้


เงื่อนไข/จุดอ่อน

  -ยุ่งยาก

      เมื่อเทียบกับโมเดลแรก โมเดลนี้ เหมือนแบ่งเป็น 2 โครงการย่อย ซึ่งแน่นอนยุ่งยากกว่าโมเดลที่ 2 อีก และจำเป็นต้องมีการ ว่าจ้างที่ปรึกษาการผลิต มาช่วยเท่านั้น


-ใช้ระยะเวลา

      เมื่อเทียบกับอีก 2 โมเดล โมเดลนี้ใช้เวลามากกว่า ซึ่งเวลาที่เพิ่มมาจากการหาเอาท์ซอร์ซ ที่มีจำนวนมากว่าโมเดลอื่น และรวมถึงเรื่องสำคัญ ที่เป็นอะไรที่ยากมาก ก็คือ จะทำอย่างไรให้อยู่ในงบประมาณที่จำกัดให้ได้

      เหมือนที่คำกล่าวว่า สำหรับวิศวกรทำของยากโดยไม่บีบเรื่องงบมาก ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ยาก แต่ถ้าทำของยากเท่ากัน แต่มีงบให้น้อย อันนี้ยาก.....ความยากแปรผันตามงบประมาณ


-พนักงานต้องช่วย

      ในบางกรณีที่กิจการมีความพร้อม เช่น มีพนักงานเป็นช่างเทคนิค หรือมีพื้นที่สำหรับทำงานก็สามารถเข้ามาช่วย และเป็นการลดต้นทุนได้อีกด้วย

รูปโมเดลที่ 3


สรุป ง่ายๆ สำหรับโมเดลที่ 3

สำหรับกิจการที่มีงบประมาณจำกัดมากๆ ว่าจ้าง ที่ปรึกษาการผลิต ให้ทำมากที่สุด ว่าจ้างเอาท์ซอร์ซเฉพาะ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบติดตั้งเท่านั้น เหมาะกับระบบการผลิตใหม่ที่มีลักษณะพิเศษ มีโอกาสขอทุนได้ และควบคุมงบประมาณได้ดีที่สุด

 

            แล้วโมเดลไหนดี ?

     คงจะบอกไม่ได้ ว่าโมเดลไหนดีที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าระบบการผลิตเป็นยังไง ผลิตอะไร ข้อจำกัดของผู้ประกอบการมีอะไรบ้าง ข้อมูลพวกนี้จะเป็นตัวบอก แนะนำให้ผู้ประกอบขอรับการปรึกษาจาก ที่ปรึกษาการผลิต จะดีที่สุด


 แนะนำ